“ผู้กำกับ” หัวใจของงานโปรดักชั่นภาพยนตร์โฆษณา

“ผู้กำกับ” หัวใจของงานโปรดักชั่นภาพยนตร์โฆษณา

“ผู้กำกับ” หัวใจของงานโปรดักชั่นภาพยนตร์โฆษณา

ในการสร้างผลงานโฆษณาขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องมีการประสานงานร่วมกันของหลาย ๆ ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่ บริษัทของลูกค้า หรือผู้ว่าจ้างที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Client)

บริษัทที่เป็นตัวแทนโฆษณา (Advertising agency) ฝ่ายผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณา (Production house) รวมไปถึงผู้ดูแลหลังการถ่ายทำ (Post-production)ซึ่งในกระบวนการนั้นจะเริ่มต้นจากบริษัทที่เป็นตัวแทนโฆษณาได้รับมอบหมายให้ทำการสร้างโครงเรื่องโฆษณา (Storyboard) นำไปเสนอต่อลูกค้าที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ เพื่อขออนุมัติให้ทำการผลิตภาพยนตร์โฆษณาและเมื่อลูกค้าเห็นชอบและตอบตกลงอนุมัติแล้ว ทางบริษัทตัวแทนโฆษณาก็จะส่งโครงเรื่องไปยังบริษัทที่เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาเพื่อประเมินราคาและให้ลูกค้าได้เลือกบริษัทที่จะผลิตภาพยนตร์โฆษณาให้

เมื่อลูกค้าเลือกบริษัทได้แล้ว ทางตัวแทนโฆษณาจะเชิญผู้กำกับเข้ามาร่วมประชุมเกี่ยวกับเนื้อหาและรายละเอียดของโครงเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา เพื่อที่จะให้ผู้กำกับสามารถนำโครงเรื่องนั้นกลับไปพัฒนาให้ใกล้เคียงกับการถ่ายทำมากที่สุด

เมื่อได้รับโครงเรื่องมาแล้ว ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาจะเป็นผู้พิจารณาเพื่อคัดเลือกบุคคลต่าง ๆ เข้ามา อันประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการผลิต (Producer) ผู้ช่วยผู้อำนวยการผลิต (Assistant Producer) ผู้ช่วยผู้กำกับ (Assistant Director) แผนกเขียนโครงเรื่องเพื่อการถ่ายทำ (Visualizer) ผู้กำกับด้านศิลปกรรมและอุปกรณ์ประกอบฉาก (Art Director และ Prop Master)

แผนกหาสถานที่ในการถ่ายทำ (Location Manager) แผนกจัดหานักแสดง (Casting) แผนกเสื้อผ้า (Costume Stylist) ผู้กำกับภาพ (Director of Photography) ผู้กำกับแสง (Gaffer) และผู้อำนวยการผลิตหลังการถ่ายทำ (Post Producer)เมื่อเลือกทีมงานในการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาได้แล้ว ทางทีมงานก็จะจัดทำเอกสารการประชุมก่อนการถ่ายทำเพื่อนำไปเสนอต่อบริษัทตัวแทนโฆษณา และลูกค้าที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ก่อนทำการถ่ายทำ

โดยที่ผู้กำกับจะเริ่มต้นจากการนำเสนอโครงเรื่องที่ใช้ในการถ่ายทำ เปิดวีดีโอประกอบข้อมูลการถ่ายทำที่ได้เตรียมเอาไว้ให้ลูกค้าดู รวมทั้งอธิบายถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการถ่ายทำด้วย จากนั้นผู้กำกับก็จะทำการเสนอสถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำ โดยส่วนมากจะพยายามเลือกเฟ้นหาสถานที่ที่มีความใกล้เคียงกับในโครงเรื่องมากที่สุด จากนั้นจะเป็นการนำเสนอนักแสดงที่ได้คัดมาให้ลูกค้าได้เลือกอีกครั้งหนึ่ง

ในส่วนของเสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับต่าง ๆ ของนักแสดงที่จะใช้ ก็จะให้แผนกเสื้อผ้าทำการนำเสนอภาพร่างเพื่อให้ลูกค้าได้นึกภาพตามออก  จากนั้นก็จะเป็นในส่วนของการนำเสนอเกี่ยวกับฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากต่าง ๆ ที่ใช้ในการดำเนินเรื่องและท้ายที่สุดก็คือการอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการหลังการถ่ายทำ ซึ่งจะเป็นในส่วนของการตัดต่อต่าง ๆ นั่นเอง

เราสามารถสรุปหน้าที่ของผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาออกมาได้เป็น 9 ข้อด้วยกัน ได้แก่

1.ตีความหมายของบทโฆษณา

2.คัดเลือกนักแสดงก่อนนำไปเสนอให้กับลูกค้า

3.คัดเลือกทีมงานในการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา

4.ให้คำแนะนำ รวมไปถึงการรับฟังข้อเสนอแนะ ปรึกษาหารือกับทีมงานทุก ๆ ฝ่ายเพื่อตกลงเกี่ยวกับรูปแบบแนวทางในการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณากันให้เรียบร้อย

5.ทำการกำหนดแผนการทำงานเอาไว้ทุกขั้นตอน

6.ดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา

7.ควบคุมทีมงานในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณาให้ออกมาราบรื่นและมีปัญหาน้อยที่สุด

8.เป็นผู้ตัดสินใจเด็ดขาดในปัญหาทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา

9.เป็นผู้รับผิดชอบผลงานโฆษณาที่ได้ถ่ายทำออกมาทั้งหมด

ในกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณา ผู้กำกับจะเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่มีบทบาทมากที่สุดในสายงานด้านศิลปะ
ในการที่จะจัดสร้างภาพยนตร์โฆษณาออกมาเรื่องหนึ่ง ผู้กำกับจะต้องเป็นคนที่คอยดูแล ควบคุมกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ และประสานงานกับทีมงานทุก ๆ ฝ่าย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานโฆษณาให้ออกมาใกล้เคียงกับโครงเรื่องที่วางไว้ให้ได้มากที่สุด

ผู้กำกับโฆษณาที่ดี ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
    • กระตือรือร้น มีความสนใจในงานโฆษณาที่ตนได้รับมอบหมายอย่างจริงจัง
    • มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของงานโฆษณาอย่างละเอียด
    • เข้าใจความนึกคิดของผู้บริโภค
    • มีความรู้และประสบการณ์ในการกำกับภาพยนตร์โฆษณาเป็นอย่างดี
    • เป็นคนที่มีความช่างสังเกต
    • มีจินตนาการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
    • มีภาวะความเป็นผู้นำที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์
    • มีความสามรถในการตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด
    • ไม่ดูถูกรสนิยมของผู้บริโภค
    • มีพรสวรรค์ในการทำงาน

ในการกำกับภาพยนตร์โฆษณา ผู้กำกับจะต้องทำความรู้ความเข้าใจในส่วนของแนวคิดหลัก หรือ Theme ของโครงเรื่องเสียก่อน แล้วจึงตีความออกมาโดยใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ซึ่งผลงานภาพยนตร์โฆษณาที่ออกมานั้น จะบรรลุเป้าหมาย สวยงาม ดีงาม และประสบผลสำเร็จหรือไม่เมื่อได้นำผลงานภาพยนตร์โฆษณาเสนอออกสู่สายตาผู้บริโภค  ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ของผู้กำกับแต่ละคนด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าในการถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณานั้นย่อมมีปัญหาและอุปสรรค์ต่าง ๆ เกิดขึ้น หนึ่งในปัญหาที่สำคัญก็คือรายละเอียดของภาพยนตร์โฆษณา และการควบคุมงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆcเพราะระยะเวลาที่ภาพยนตร์โฆษณาที่ปรากฏขึ้นบนหน้าจอโทรทัศน์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 30 วินาทีถึง 1 นาที แต่การถ่ายทำภาพยนตร์โฆษณานั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องคัดเลือกบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาอย่างละเอียดรอบคอบ เลือกใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในสายงานโดยเฉพาะ เพื่อควบคุมการผลิตภาพยนตร์โฆษณาให้ออกมาได้ผลงานตามเป้าหมายไม่มีข้อผิดพลาด และใช้งบประมาณในการผลิตภาพยนตร์โฆษณาตามแผนที่ได้วางเอาไว้ในท้ายที่สุดนั่นเองค่ะ

Get A Quote

Add Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *